สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๗๓๓  การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่น ๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดงบัญชีการจัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๓๒ นั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชีนั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว

 

วรรคสอง คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562

จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้

จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้

จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้

แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

บทความที่น่าสนใจ

-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคนคนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร

-พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์มรดก

-สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

-ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน

-เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้ต้องฟ้องลูกหนี้ภายใน1ป